สถาบันเซาท์เซ็นเตอร์เผย การขอจดสิทธิบัตรเภสัชภัณฑ์ ‘แบบต่อเนื่องไม่มีวันสิ้นสุด’ แต่ปรับเปลี่ยนคุณสมบัติเพียงเล็กน้อย กำลังแพร่ระบาดอย่างมาก ชี้เป็นวิธีการหนึ่งที่สามารถกีดกัน ไม่ให้ยาชื่อสามัญเข้ามาแข่งขันในตลาด...
เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. น.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล ทีมวิจัย "สิทธิบัตรยา" ที่จัดเป็น evergreening patent ในประเทศไทย และการคาดประมาณผลกระทบที่เกิดขึ้น เปิดเผยว่า สถาบันเซาท์เซ็นเตอร์ ซึ่งเป็นสถาบันวิชาการอิสระด้านการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยงานวิจัยเรื่อง การสำรวจสิทธิบัตรที่ไม่มีวันสิ้นสุด หรือสิทธิบัตรแบบ evergreening ใน 5 ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ คือ อาร์เจนตินา บราซิล โคลอมเบีย อินเดีย และแอฟริกาใต้ พบว่า การขอจดสิทธิบัตรเภสัชภัณฑ์ ‘แบบต่อเนื่องไม่มีวันสิ้นสุด’ โดยอาศัยการปรับเปลี่ยนคุณสมบัติเพียงเล็กน้อย กำลังแพร่ระบาดเป็นจำนวนมาก และเป็นวิธีการหนึ่งที่สามารถกีดกันไม่ให้ยาชื่อสามัญเข้ามาแข่งขันในตลาด
น.ส.กรรณิการ์ กล่าวว่า การอนุมัติสิทธิบัตรแก่การปรับเปลี่ยนคุณสมบัติสิ่งประดิษฐ์เพียงเล็กน้อย อาจถูกนำมาใช้เพื่อขัดขวาง ไม่ให้ยาชื่อสามัญเข้ามาแข่งขันในตลาด ซึ่งการแข่งขันนี้จะทำให้ยามีราคาถูกลง และช่วยขยายโอกาสเข้าถึงยา โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับประชากรยากจน งานวิจัยฉบับนี้ได้อ้างถึงการหาข้อมูลของคณะกรรมาธิการยุโรป ซึ่งพบว่าบริษัทยาต้นฉบับได้วางแผนและใช้แผนกลยุทธ์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อยืดเวลาเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากยาของตน ให้ได้ยาวนานไม่มีวันสิ้นสุด กลยุทธ์ที่พบได้แก่ การยื่นขอจดสิทธิบัตรมากถึง 1,300 ฉบับ ในทั่วภูมิภาคยุโรป สำหรับยาเพียงรายการเดียว ข้อพิพาทกับบริษัทยาชื่อสามัญอันนำไปสู่การฟ้องร้องดำเนินคดีสิทธิบัตรถึงเกือบ 700 คดี รวมถึงการทำข้อตกลงในคดีความกับบริษัทยาชื่อสามัญ อันอาจส่งผลให้ยาชื่อสามัญวางจำหน่ายในตลาดได้ล่าช้า ตลอดจนการเข้าแทรกแซงการดำเนินงานของรัฐ เพื่อขึ้นทะเบียนตำรับยาชื่อสามัญ.