รายละเอียดข่าวสารประชาสัมพันธ์

รายงานประจำปี 2558 ของ IMD จัดอันดับโครงสร้างพื้นฐานด้านทรัพย์สินทางปัญญาของไทยดีขึ้น

kmutnb

นางมาลี โชคล้ำเลิศ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวว่า สถาบันการจัดการนานาชาติ (International Institute for Management Development หรือ IMD) ได้ประกาศผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของนานาประเทศทั้งหมด 61 เขตเศรษฐกิจทั่วโลก ประจำปี 2558เมื่อเดือนกรกฎาคม 2558 โดย IMD จัดให้สหรัฐฯ เป็นประเทศที่มีความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจมากที่สุดเป็นอันดับที่ 1 ฮ่องกงเป็นอันดับที่ 2 และสิงคโปร์เป็นอันดับที่ 3 ในขณะที่ไทย IMD จัดอยู่ในอันดับ  ที่ 30 และเป็นประเทศในอาเซียนอันดับที่ 3 รองจากสิงคโปร์ และมาเลเซียตามลำดับ
 
          นางมาลีฯ กล่าวว่า  IMD ได้พิจารณาจัดอันดับประเทศโดยพิจารณาจากปัจจัยที่สำคัญ 4 หมวด  ได้แก่ 1) สมรรถนะทางเศรษฐกิจ  2) ประสิทธิภาพของภาครัฐ  3) ประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ และ  4) โครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งประเทศไทยมีผลการจัดอันดับที่ดีขึ้นใน 3 หมวด คือ ในหมวดประสิทธิภาพของภาครัฐไทยได้เลื่อนจากอันดับที่ 28 เป็น 27  ประสิทธิภาพของภาคธุรกิจเลื่อนจากอันดับที่ 25 เป็น 24 และโครงสร้างพื้นฐานเลื่อนจากอันดับที่ 48 เป็น 46
 
          หากพิจารณาในหมวดโครงสร้างพื้นฐาน IMD ได้ปรับไทยให้อยู่ในอันดับที่ดีขึ้น 2 อันดับคือ จากอันดับที่ 48 ในปี 2557 มาเป็นอันดับที่ 46 ปี 2558 โดยในหมวดโครงสร้างพื้นฐานนี้จะประกอบด้วยหมวดย่อยหลายหมวด ซึ่งรวมถึงเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา โดยในด้านการยื่นขอจดทะเบียนสิทธิบัตรต่อจำนวนประชากร ไทยมีการพัฒนาที่ดีขึ้นคือ คนไทยยื่นขอจดทะเบียนสิทธิบัตรต่อจำนวนประชากรเพิ่มมากขึ้นจากร้อยละ 1.92 เป็นร้อยละ 2.96  สำหรับด้านการลงทุนวิจัยและพัฒนา  ไทยมีการลงทุนฯ ที่เพิ่มขึ้นจากมูลค่า 1,340 ล้านเหรียญสหรัฐ/ปี เป็น 1,856 ล้านเหรียญสหรัฐ/ปี เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 0.39 เป็นร้อยละ 0.48 ของ GDP ซึ่งแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยให้ความสำคัญ และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยี และความสามารถในการแข่งขันด้านต้นทุนได้ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งส่งผลต่อการขับเคลื่อนประเทศด้วยนวัตกรรม และการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ สำหรับประเทศที่ถูกจัดอันดับในหมวดโครงสร้างพื้นฐานอยู่ในอันดับต้นๆ  ได้แก่ สหรัฐอเมริกา อันดับที่ 1 สวิตเซอร์แลนด์ อันดับที่ 2 และเดนมาร์ก อันดับที่ 3 ตามลำดับ
 
          อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาย้ำว่า ทรัพย์สินทางปัญญาถือเป็นปัจจัยที่มีส่วนสำคัญ อย่างมากในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และการค้าระหว่างประเทศของไทย ผู้ประกอบการ สถาบันการศึกษา หน่วยงานภาคเอกชน และภาครัฐที่เกี่ยวข้อง จึงควรสนับสนุนการสร้างสรรค์ผลงาน และการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา  ซึ่งรวมถึง เครื่องหมายการค้า ลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร แผนภูมิวงจรรวม สิทธิบัตรออกแบบอุตสาหกรรม  สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ เป็นต้น เพื่อคุ้มครองผลงาน และความคิดสร้างสรรค์ของคนไทย และสามารถนำไปสู่การพัฒนาความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างยั่งยืนต่อไป

ล่าสุด
สหรัฐฯ ประกาศปรับสถานะการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของไทย ออกจากบัญชีประเทศที่ต้องจับตามองพิเศษ (PWL)
อ่านต่อ
รายงานประจำปี 2558 ของ IMD จัดอันดับโครงสร้างพื้นฐานด้านทรัพย์สินทางปัญญาของไทยดีขึ้น
อ่านต่อ
แฉเล่ห์บริษัทยา จดสิทธิบัตรกลุ่ม หวังฮุบตลาดโลก
อ่านต่อ
สิทธิบัตร อัจฉริยะ
อ่านต่อ