เรื่องราวของเคิร์นสได้รับการนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ (ภาพจาก Flash Of Genius).
สิทธิบัตรของบรรดานักคิด นักประดิษฐ์อัจฉริยะทั้งหลาย ไม่ใช่ได้มาโดยง่าย อย่างชีวิตของ นักประดิษฐ์ที่ปัดน้ำฝน ที่ต้องต่อสู้มายาวนาน ...
สวัสดีค่ะท่านผู้อ่านที่รักทุกท่าน กลับมาพบกันอีกครั้งทุกวันอาทิตย์ กับไทยรัฐ ซันเดย์ สเปเชียล โดยทีมงานต่วย'ตูน
ระหว่าง ที่กำลังนั่งเขียนเรื่องอยู่นี้ ผู้เขียนก็แอบเบี่ยงสมาธิฟังเพลงจากวิทยุเครื่องเก่าไปพร้อมๆกันด้วย และการฟังวิทยุนี่เอง ที่ทำให้นึกถึงคนคนหนึ่ง ที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมวิทยุของโลก ชื่อของเขาคือ เอ็ดวิน โฮเวิร์ด อาร์มสตรองค่ะ
เอ็ดวิน โฮเวิร์ด อาร์มสตรอง.
อาร์ม สตรองเป็นวิศวกรไฟฟ้าชาวอเมริกัน ซึ่งเป็นผู้ประดิษฐ์เครื่องปรับความถี่วิทยุขึ้น ใน ค.ศ.1929 เจ้าเครื่องนี้พูดกันง่ายๆก็คือ ระบบวิทยุ เอฟเอ็มนั่นเอง
ก่อน หน้าที่จะคิดประดิษฐ์วิทยุเอฟเอ็ม ผู้คนก็ยังคงฟังแต่วิทยุเอเอ็ม ที่ให้คุณภาพเสียงในระดับหนึ่ง แต่เอฟเอ็มก็เหมือนเป็นการเปิดทางเดินใหม่ ให้วงการวิทยุ ด้วยคุณภาพเสียงที่ดีกว่า และหลังจากประดิษฐ์ได้แล้ว อาร์มสตรองก็ยื่นขอจดสิทธิบัตร และได้รับการคุ้มครองสิทธินี้เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม ค.ศ.1933
อาร์มสตรองหวังให้สิ่งประดิษฐ์ใหม่ถูกเผย แพร่ในวงกว้าง ก็เลยตัดสินใจเข้าไปขอสาธิตเทคโนโลยีนี้ให้ยักษ์ใหญ่ในวงการสื่อสารของ สหรัฐฯ คือ เรดิโอ คอร์ปอเรชั่น ออฟ อเมริกา หรืออาร์ซีเอ ได้ชมในปีถัดจากที่ได้ สิทธิบัตร โดยหวังว่าอาร์ซีเอ จะซื้อแนวคิดนี้ไปทำเป็นธุรกิจ แต่ก็เหลวค่ะ บริษัทไม่ยอมควักกระเป๋าซื้อเทคโนโลยีนี้ เพราะยังให้ความสนใจกับเรื่องของเอเอ็ม และเทคโนโลยีโทรทัศน์มากกว่า
ห้องทดลองระบบวิทยุของอาร์มสตรอง.
แต่ อาร์มสตรองก็ไม่ท้อ อีก 2 ปีต่อมา เขาเสนอขอสาธิตเอฟเอ็มอีกครั้ง คราวนี้เป็นการสาธิต ให้คณะกรรมาธิการการสื่อสารของสหรัฐฯฟัง โดยมีการอัดเสียงการเล่นดนตรีแจ๊สผ่านระบบเอเอ็ม แล้วย้อนมาเปิดให้ฟังด้วยระบบเอฟเอ็ม ทำเอาผู้ฟังที่เป็นวิศวกร 50 คน ถึงกับเคลิ้ม แล้วบอกว่า ถ้าหลับตาฟังโดยไม่คิดว่ามีเจ้าเครื่องเอฟเอ็มอยู่ตรงหน้าล่ะก็เป็นได้คิด ว่ากำลังฟังการแสดงดนตรีสดๆในห้องนั้นเป็นแน่ แต่ถึงขนาดนี้แล้ว อาร์มสตรองก็ยังไม่สามารถทำเงินจากสิ่งประดิษฐ์ใหม่นี้ได้เลย
ว่า แล้ว หลังจากคิดสะระตะว่า ไม่มีใครเอาด้วย พ่อหนุ่มก็ตัดสินใจสร้างสถานีวิทยุเอฟเอ็มเป็นของตัวเองเสียเลย ในปี 1937 จากห้องส่งในเมืองอัลไพน์ รัฐนิวเจอร์ซี คลื่นวิทยุเสียงชัดแจ๋วของอาร์มสตรองสามารถกระจายเสียงให้ได้ยินไปไกลกว่า 100 ไมล์ ที่สำคัญใช้พลังงานน้อยกว่าสถานีวิทยุเอเอ็มเยอะ แต่ตอนนี้เอง ที่มี "มือมืด" ในวงการสื่อสารเข้ามาทำให้เกิดความปั่นป่วน จนเกิดการอนุมัติยกคลื่นความถี่เดิมที่อาร์มสตรองใช้อยู่ให้อาร์ซีเอไป ทำเอาหนุ่มเอฟเอ็มที่ต้องถูกย้ายคลื่นความถี่ออกอาการเป๋
เท่านั้น ยังไม่พอ อาร์ซีเอได้ผลิตวิทยุเอฟเอ็มของตัวเองบ้าง และยังไปขอสิทธิบัตรการประดิษฐ์จนได้รับการคุ้มครองด้วยอีกรายหนึ่ง ทำให้ อาร์มสตรองไม่มีสิทธิ์ได้ ค่าตอบแทนจากความคิดของเขา แม้จะยื่นฟ้องต่อศาลเพื่อเรียกร้องสิทธิ์ ก็ยังแพ้คดีเสียอีก
ความ พ่ายแพ้ และเงินจำนวนมากที่ต้องใช้ไปในการสู้คดี ทำเอาอาร์มสตรองหัวใจสลาย เขาไม่มีเงินเหลือเลยซักเก๊ ความผิดหวังอย่างรุนแรง ทำให้อัจฉริยะคนหนึ่งของโลกตัดสินใจชั่ววูบด้วยการกระโดดตึกลงมาจากชั้น 13 ของอพาร์ตเมนต์ในนิวยอร์ก เมื่อ 31 มกราคม 1954 ปิดฉากชีวิต และการต่อสู้อันยาวนาน เหลือทิ้งไว้ เพียงแนวคิดของวิทยุเอฟเอ็มที่ยังส่งเสียงจรรโลงโลกอยู่ถึงทุกวันนี้
ฟีโล เทย์เลอร์ ฟาร์นสเวิร์ธ.
เมื่อ พูดถึงวิทยุแล้ว จะไม่เล่าต่อถึงกำเนิดโทรทัศน์เลยก็กระไรอยู่ แถมเรื่องยังคล้ายๆกันอีกด้วย กล่าวคือ ผู้คิดประดิษฐ์โทรทัศน์ขึ้นมาเป็นคนแรกของโลก คือ ฟีโล เทย์เลอร์ ฟาร์นสเวิร์ธ อัจฉริยะผู้สามารถส่งสัญญาณภาพจากเครื่องส่งที่วางอยู่ห้องหนึ่ง ไปยังเครื่องรับในอีกห้องได้สำเร็จ ด้วยวัยเพียง 21 ปี ใน ค.ศ.1927 และนั่นก็คือต้นกำเนิดโทรทัศน์เครื่องแรกของโลก
ฟาร์นสเวิร์ธกับกล้องถ่ายโทรทัศน์.
แต่ ในช่วงเวลาไม่ห่างกันนัก อาร์ซีเอ เจ้าเก่าก็อ้างว่า แผนกวิศวกรรมของอาร์ซีเอต่างหากที่เป็น ผู้คิดประดิษฐ์ทีวีขึ้นมาได้ก่อน ก็เลยต้องมีการต่อสู้กันในชั้นศาล เพื่อหาข้อสรุปให้ได้ว่าสิทธิบัตรอันสำคัญนี้จะตกเป็นของใคร
ฟาร์นสเวิร์ธกำลังดูแลการบันทึกภาพ.
งาน นี้ฟาร์นสเวิร์ธโชคดีกว่าอาร์มสตรอง หลังจากสู้คดีกันยาวนาน หนุ่มน้อยชนะ เป็นผู้ได้สิทธิบัตรโทรทัศน์ และได้เงินมาจำนวนหนึ่ง แต่ระหว่างการสู้คดี เขาก็เสียโอกาส และเสียสิทธิในสิ่งประดิษฐ์ที่เกี่ยวกับโทรทัศน์อีกหลายอย่าง ทำให้ในที่สุดแล้ว แม้ ฟาร์นสเวิร์ธ นักประดิษฐ์ ได้รับการยกย่องจากนิตยสารไทมส์ให้เป็น 1 ใน 100 บุคคลผู้มีความสำคัญในศตวรรษ ในฐานะผู้คิดค้นนวัตกรรมที่ดีที่สุดอย่างหนึ่งในโลก แต่เขาก็ไม่เคยสร้างความร่ำรวยได้จากมันเลย
หันมาทางด้านนักประดิษฐ์ อีกคนหนึ่ง ที่อาจจะโชคดีกว่า เพราะยังสามารถทำเงินได้จากสิ่งประดิษฐ์อันทรงคุณค่าของเขา กอร์ดอน กูลด์ นักฟิสิกส์ชาวอเมริกา ที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางว่าเป็นผู้ประดิษฐ์เลเซอร์ แต่ถึงกระนั้น คลาวด์ก็ต้องต่อสู้กับสำนักงานสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้าสหรัฐฯนานเกือบ 30 ปี กว่าจะได้สิทธิบัตรในการประดิษฐ์เลเซอร์และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง รวมถึงต้องต่อสู้กับบริษัทผลิตเลเซอร์ในชั้นศาล เพื่อให้คุ้มครองสิทธิของเขาในสิทธิบัตรที่เขาได้รับ
อันที่จริงกู ลด์ได้ยื่นขอสิทธิบัตรในเทคโนโลยีเลเซอร์ตั้งแต่ปี ค.ศ.1959 แต่ระหว่างที่รอการอนุมัติอยู่ ใน ค.ศ.1960 สำนักสิทธิบัตรสหรัฐฯกลับให้ สิทธิบัตรกับคนอื่นไปก่อน จนคลาวด์ต้องยื่นคัดค้าน แต่ก็ไม่เป็นผล โชคยังดีที่เขาได้รับการคุ้มครองสิทธิบัตรเลเซอร์ในประเทศอื่นๆ และยังได้พัฒนาเทคโนโลยีเลเซอร์ให้ก้าวหน้าไปเรื่อยๆ จนสามารถใช้ประโยชน์ ได้หลากหลาย เช่น การวัดระยะ การถ่ายเอกสาร การถ่ายภาพ ระบบสื่อสาร ฯลฯ และได้สิทธิบัตรในเทคโนโลยีรุ่นหลังๆนี้ ก่อนจะได้สิทธิในเทคโนโลยีตัวแรกหลังผ่านไปหลายสิบปีดังกล่าว ซึ่งทำให้เขาต้องเสียประโยชน์ไปมากโขอยู่
กอร์ดอน กูลด์.
ถึง กระนั้น กูลด์ก็สามารถทำเงินได้หลายล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่ก็ต้องเสียเงินราวๆ 80% ของรายได้ ไปเป็นค่าต่อสู้คดี ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเห็นใจ และน่าย้อนคิดว่า หากมีความยุติธรรมเสียตั้งแต่แรก ก็ไม่ต้องเสียค่าเวลาขึ้นโรงขึ้นศาล และไม่ต้องหมดเงินไปกับขั้นตอนมากมายอย่างที่กูลด์ต้องเผชิญ
ในทำนอง เดียวกับนักประดิษฐ์อีกคนหนึ่ง ที่ต้องต่อสู้อย่างหนักเพื่อให้ได้สิทธิในความคิดของเขา ซึ่งผู้ขับขี่รถยนต์ทุกคนควรจะปรบมือให้ โรเบิร์ต วิลเลียม เคิร์นส ผู้คิดระบบการปัดน้ำฝนที่ใช้ในรถยนต์อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเขาได้ยื่นขอจดสิทธิบัตรเมื่อ 1 ธันวาคม 1964
เคิร์นสพยายามขาย ความคิดให้พวกยักษ์ใหญ่ ในวงการอุตสาหกรรมรถยนต์ แต่ไม่มีใครซื้อ ทว่า กลับเอาไอเดียนี้ไปติดตั้งในรถยนต์เสียดื้อๆ ตั้งแต่ปี 1969 ทำเอาเคิร์นสทนไม่ไหว ตัดสินใจรักษาสิทธิของตัวเองด้วยการยื่นฟ้องฟอร์ด มอเตอร์ และไครสเลอร์ คอร์ปอเรชั่น ว่าละเมิดสิทธิบัตร
โรเบิร์ต วิลเลียม เคิร์นส ในวัยชรา.
โชค เข้าข้างเคิร์นส เขาชนะคดี ฟอร์ดจ่ายค่าชดเชยให้เขา 10.1 ล้านเหรียญฯ ในขณะที่ไครสเลอร์ก็ ถูกศาลสั่งให้จ่ายเงินให้เคิร์นส 18.7 ล้านเหรียญฯ แต่เห็นจำนวนเงินเยอะขนาดนี้ ก็ไม่ได้หมายความว่าเคิร์นสจะได้ไปคนเดียวทั้งหมด เพราะการสู้คดีที่ยืดเยื้อ และค่าทนายของสหรัฐฯที่แพงหูฉี่ ทำเอาเคิร์นสต้องแบ่งรายได้ ให้ทนายไปราวๆ 10 ล้านเหรียญฯ อย่างน่าเสียดาย
ชี วิตของเคิร์นส ซึ่งเป็นทั้งนักประดิษฐ์และนักต่อสู้ตัวยง ได้รับความสนใจจากสาธารณชน รวมถึงผู้สร้างภาพยนตร์ฮอลลีวูด จนถึงกับมีผู้นำเอาเรื่องราวของเขามาสร้างเป็นหนังคุณภาพ Flash Of Genius แฟลช ออฟ จีเนียส อัจฉริยะฟ้องโลก ภาพยนตร์ที่ทั้งนักประดิษฐ์ และผู้ใช้ผลงานต่างๆ อันทรงคุณค่าของเหล่านักคิดน่าจะได้ย้อนรำลึกถึงการต่อสู้ของเคิร์นสกันอีก หนแล้วทุกครั้งที่ขับรถ แล้วฝนตกจนต้องเปิดที่ปัดน้ำฝน คุณอาจจะนึกถึงผู้ชายคนนี้ โรเบิร์ต วิลเลียม เคิร์นส.
ทีมงาน ต่วย'ตูน